บทความ

พฤติกรรมครูที่ควรและไม่ควรปฏิบัติต่อเด็กจากคุรุสภา

พฤติกรรมครูที่ควรและไม่ควรปฏิบัติต่อเด็กจากคุรุสภา

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า วิชาชีพครู เป็นวิชาชีพที่มีความใกล้ชิด ละเอียดอ่อนและมีอิทธิพลต่อคุณภาพการศึกษาที่ส่งต่อถึงคุณภาพของผู้เรียน โดยผู้ประกอบวิชาชีพครู เป็นบุคคลที่สถานศึกษา ผู้ปกครองและสังคมล้วนแต่คาดหวังว่าจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ มีคุณธรรมจริยธรรม และมีจรรยาบรรณของวิชาชีพครู จึงให้ความไว้วางใจที่จะฝากบุตรหลานของตนเองให้อยู่ในความดูแลของครู และให้สิทธิครูในการอบรมสั่งสอน ให้ความรู้และเสริมสร้างทักษะความสามารถของผู้เรียนในแต่ละระดับและตามแต่ละช่วงวัย รวมถึงการปรับพฤติกรรมของผู้เรียนให้เป็นคนดี สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปกติสุข และสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้แก่สังคมต่อไป หากผู้ประกอบวิชาชีพครูไม่เข้าใจหรือไม่ตระหนักรู้ในบทบาทหน้าที่ดังกล่าว อาจใช้วิธีการจัดการเรียนรู้หรือปรับพฤติกรรมของผู้เรียนในทางที่ไม่เหมาะสมและเกิดผลร้ายต่อผู้เรียน ซึ่งขัดต่อจรรยาบรรณของวิชาชีพครู อันจะนำไปสู่การถูกดำเนินการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพครูได้

ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าวต่อไปว่า คุรุสภาในฐานะสภาวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาได้กำหนดแบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณของวิชาชีพครู ตามข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. 2556 และข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยแบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. 2550 ซึ่งเกี่ยวข้องกับแบบแผนพฤติกรรมที่ผู้ประกอบวิชาชีพครูที่ควรปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติต่อศิษย์หรือผู้รับบริการ โดยแบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพครูที่มีต่อผู้รับบริการมีดังนี้ ครูต้องรัก เมตตา เอาใจใส่ ช่วยเหลือ ส่งเสริมให้กำลังใจแก่ศิษย์ และผู้รับบริการตามบทบาทหน้าที่โดยเสมอภาค, ครูต้องส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ทักษะ และนิสัยที่ถูกต้องดีงามแก่ศิษย์และผู้รับบริการตามบทบาทหน้าที่อย่างเต็มความสามารถด้วยความบริสุทธิ์ใจ, ครูต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ ,ครูต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์และสังคมของศิษย์และผู้รับบริการ และครูต้องให้บริการด้วยความจริงใจและเสมอภาค โดยไม่เรียกรับหรือยอมรับผลประโยชน์จากการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ

เลขาธิการคุรุสภา กล่าวอีกว่า ส่วนแบบแผนพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ได้แก่

  • ให้คำปรึกษาหรือช่วยเหลือศิษย์และผู้รับบริการด้วยความเมตตากรุณาอย่างเต็มกำลังความสามารถและเสมอภาค
  • สนับสนุนการดำเนินงานเพื่อปกป้องสิทธิเด็ก เยาวชน และผู้ด้อยโอกาส
  • ตั้งใจ เสียสละ และอุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ศิษย์และผู้รับบริการได้รับการพัฒนาตามความสามารถ ความถนัด และความสนใจของแต่ละบุคคล
  • ส่งเสริมให้ศิษย์และผู้รับบริการสามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองจากสื่อ อุปกรณ์ และแหล่งเรียนรู้อย่างหลากหลาย
  • ให้ศิษย์และผู้รับบริการ มีส่วนร่วมวางแผนการเรียนรู้ และเลือกวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสมกับตนเอง
  • เสริมสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ศิษย์และผู้รับบริการด้วยการรับฟังความคิดเห็น ยกย่อง ชมเชย และให้กำลังใจอย่างกัลยาณมิตร.

ส่วนแบบแผนพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ และงดเว้นปฏิบัติเด็ดขาดได้แก่ 1.ลงโทษอย่างไม่เหมาะสมด้วยการใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การทำร้ายร่างกาย การใช้คำพูดที่รุนแรงหรือไม่สุภาพ เป็นต้น 2.ไม่ใส่ใจ หรือไม่รับรู้ปัญหาของศิษย์หรือผู้รับบริการ จนเกิดผลเสียหายต่อศิษย์หรือผู้รับบริการ 3. ดูหมิ่น เหยียดหยามศิษย์หรือผู้รับบริการ เช่น การทำให้ศิษย์อับอาย หรือเกิดปมด้อย 4.เปิดเผยความลับของศิษย์หรือผู้รับบริการ เป็นผลให้ได้รับความอับอาย หรือเสื่อมเสียชื่อเสียง 5. จูงใจโน้มน้าว ยุโยงส่งเสริมให้ศิษย์หรือผู้รับบริการปฏิบัติขัดต่อศีลธรรมหรือกฎระเบียบ เช่น กรณีเกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีเด็ก เป็นต้น 6.ชักชวน ใช้ จ้างวาน ศิษย์หรือผู้รับบริการให้จัดซื้อ จัดหาสิ่งเสพติด หรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับอบายมุข และ 7.เรียกร้องผลตอบแทนจากศิษย์หรือผู้รับบริการในงานตามหรือที่ที่ต้องให้บริการ เช่น กรณีการเรียกรับเงิน หรือสิ่งตอบแทนอื่นจากศิษย์เพื่อแลกเกรด เป็นต้น

“คุรุสภา ขอเชิญชวนผู้ประกอบวิชาชีพครู นักศึกษาวิชาชีพครูและอาจารย์ในสถาบันผลิตครูทุกคนได้ให้ความสำคัญและเคร่งครัดกับการปฏิบัติตนต่อลูกศิษย์ และฝากให้ทุกคนได้ปฏิบัติงานอย่างมีสติ ทบทวนและตรวจสอบตนเองว่าเคยมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ต่อผู้รับบริการหรือไม่ หากเคยก็จะต้องปรับปรุงวิธีการและแนวปฏิบัติของตนเองให้เป็นไปตามแบบแผนพฤติกรรมที่พึงประสงค์ และไม่ปฏิบัติพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์อีกต่อไป ส่วนกรณีการลงโทษนักเรียนไม่เหมาะสม ขัดต่อระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของศิษย์นั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้เรียน ขอให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาทุกคนได้ตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตามคุรุสภาได้ตั้งวอร์รูม เพื่อติดตามข่าวของครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกวัน โดยจัดทำเผยแพร่ในรูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งทั้งข่าวดี และข่าวไม่ดี ถ้าพบครูดี บุคลากรทางการศึกษาดี โดดเด่น ก็จะดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ หากพบผู้ใดกระทำผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ ก็จะดำเนินการพิจารณาโทษทางจรรยาบรรณอย่างเร่งด่วน เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของเด็ก เยาวชน และประชาชน รวมถึงพิทักษ์เกียรติศักดิ์ศรีของวิชาชีพให้สมกับความเป็นวิชาชีพชั้นสูงด้วย” ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าว

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เดลินิวส์

Related Articles

Back to top button
error: Content is protected !!