บทความ

โค้ดดิ้ง สกิล ทักษะที่สําคัญแห่งอนาคต

โค้ดดิ้ง สกิล ทักษะที่สําคัญแห่งอนาคต
ผู้เขียน : -หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ qualitylife4444@gmail.com –
วันที่สืบค้น : 3 มกราคม 2563

หนึ่งในนโยบายของรัฐบาลคือ การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 โดยสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ใหม่ในระบบดิจิทัล ปรับปรุงรูปแบบการเรียนรู้มุ่งสู่ระบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีด้านวิศวกรรม คณิตศาสตร์ โปรแกรมเมอร์ และภาษาต่างประเทศ ส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์(Coding) ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา

การพัฒนาโรงเรียนคุณภาพในทุกตำบลส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ของสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ของสถาบันการศึกษาสู่สาธารณะ เชื่อมโยงระบบการศึกษากับภาคปฏิบัติจริงในภาคธุรกิจ สร้างนักวิจัยใหม่และนวัตกรเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ

สร้างความรู้ความเข้าใจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สื่อออนไลน์ และโครงข่ายสังคมออนไลน์ของคนไทยเพื่อป้องกันและลดผลกระทบในเชิงสังคม ความปลอดภัย อาชญากรรมทางไซเบอร์ และสามารถใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการกระจายข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง การสร้างความสมานฉันท์และความสามัคคีในสังคม รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต

คนที่ผลักดันเรื่อง การเรียนภาษาคอมพิวเตอร์(Coding) ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา คือ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และได้บรรจุเป็นนโยบายรัฐบาล ในข้อที่ 7 ภายใต้หัวข้อที่ว่า เตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 เนื่องจากโลกยุคดิจิทัลและเทคโนโลยีเติบโตรวดเร็ว เข้ามามีบทบาทมากในชีวิตประจำวันของทุกคน การเรียนโค้ดดิ้ง (Coding) จึงจำเป็นสำหรับเด็กยุคใหม่ก้าวให้ทันโลก รวมทั้งผู้ประกอบการยุคใหม่ล้วนหันมาเป็นผู้เล่นในตลาดนี้ ดังนั้น Coding คือความจำเป็นทางด้านการศึกษาไทย

ก่อนหน้านี้ เคยหารือกับคณะ ดร.ทาคาฮิโร ไซโตะ จากมหาวิทยาลัยโอซากา เรื่อง Coding, Ict text book ผู้สร้างหลักสูตร Coding ของประเทศญี่ปุ่น ที่กำหนดเป็นนโยบายให้เรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาทั่วประเทศ ครอบคลุมในปี 2020 เพราะมองว่า กระทรวงศึกษาธิการต้องปรับตัวให้ทันโลกยุคดิจิทัล โดยเฉพาะประเทศไทยกำลังจะมีการประมูลเทคโนโลยี 5G ภาษาคอมพิวเตอร์ จำเป็นอย่างยิ่งต้องเป็นภาษาที่ 3 ของการเรียนการสอน

เพราะเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำ สิ่งสำคัญคือต้องเร่งผลักดันให้ประเทศไทยมีการจัดการศึกษาอย่างทั่วถึง เท่าเทียมกันทุกระดับ เพื่อสร้างพลเมืองคุณภาพให้มีมากขึ้นในระยะเวลาที่รวดเร็ว สามารถนำพาประเทศไทยให้ก้าวพ้นปัญหาอุปสรรคได้ เด็กไทยต้องพูดได้อย่างน้อย 2 ภาษา และเข้าถึงการเรียนเกี่ยวกับระบบไอทีได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความรู้ความสามารถทัดเทียมกับเด็กในประเทศที่เจริญแล้ว และเตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ

Coding Skill คือทักษะที่สําคัญแห่งอนาคต ที่เป็นทักษะพื้นฐานที่หลายประเทศทั่วโลกมีนโยบายให้เยาวชนของประเทศต้องมีความสามารถในการเรียนรู้และต่อยอด อันจะเป็นกุญแจสําคัญในการสร้างธุรกิจ ที่เป็น New S-Curve ใหม่ๆ ในอนาคต ว่ากันว่ายิ่งสามารถสร้างเยาวชนของชาติให้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้ได้มากเท่าไร อนาคตของประเทศไทยจะมีโอกาสสดใสและเติบโตมากเท่านั้น

ในอนาคตอันใกล้ Coding จะไม่ใช่แค่ทางเลือกของผู้สนใจเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ได้เข้าไปอยู่ในองค์ประกอบต่างๆ ในการใช้ชีวิต และสร้างธุรกิจในอนาคต เพราะเป็นพื้นฐานของความเข้าใจกระบวนการคิด และการสื่อสารอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะสามารถต่อยอดสู่การพัฒนาอื่นๆ ทั้งความเข้าใจทั้งด้านหุ่นยนต์, IoT, Machine Learning หรือปัญญาประดิษฐ์ในอนาคต กระบวนการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือการกระตุ้นให้เกิดความกระหายใคร่รู้แบบสาระบันเทิง (Edutainment) และการเล่น (Gamification) ที่จะช่วยกระตุ้นความสนใจ (Curiosity) เปิดโอกาสให้เยาวชนนําความรู้มาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ ความสนุก การแข่งขัน ซึ่งจะทําให้เกิดทั้งความภาคภูมิใจและอยากพัฒนาด้วยตนเองต่อไป เป็นสิ่งสําคัญในการสร้างหัวใจของการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ก่อนหน้านี้ กระทรวงดีอี โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ได้ร่วมมือกับ code.org สหรัฐอเมริกาและไมโครซอฟท์ นำโครงการ Coding Thailand หรือห้องเรียนออนไลน์เพื่อการเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์ มาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เตรียมพร้อมในการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม การศึกษา และสังคม เข้าสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลต่อไป

วิชาบังคับสำหรับนักเรียนป.1

เว็บไซต์สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เผยแพร่ข้อเขียน ดร.ชลิตา ธัญญะคุปต์ ไว้ว่า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 เป็นต้นมา นักเรียนประถม-มัธยม เริ่มเรียนวิทยาการคำนวณ ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Computing Science โดยจะค่อยๆ ขยายไปจนครอบคลุมทุกชั้นปีระหว่าง ป.1-ม. 6 ในปี 2563-2564 เป็นวิชาใหม่เพื่อเรียนให้ทันโลก

เพื่อพัฒนาประเทศให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงนี้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จึงเสนอหลักสูตรวิทยาการคำนวณต่อกระทรวงศึกษาธิการ จนได้รับการประกาศใช้ในหลักสูตรอย่างเป็นทางการในปี 2561 ให้เด็กมีความรู้และทักษะเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตจริงหรือพัฒนานวัตกรรม และใช้ทรัพยากรด้านไอซีทีในการสร้างองค์ความรู้หรือสร้างมูลค่าได้อย่างสร้างสรรค์

การจัดการเรียนรู้ด้านวิทยาการคำนวณมีองค์ประกอบหลัก 3 ส่วน คือ 1.วิทยาการคอมพิวเตอร์ 2.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ 3.การรู้เรื่องดิจิทัล

การเขียนโปรแกรมที่ภาษาอังกฤษเรียก coding หรือ programming ไม่จำเป็นต้องเป็นการใช้ภาษาคอมพิวเตอร์อย่าง Python เสมอไป เด็กเล็กไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เสียด้วยซ้ำ อาจใช้บัตรคำ เช่น ให้เด็กใช้บัตรภาพลูกศรกับแผนที่เพื่อวางแผนเดินทางไปบ้านเพื่อน ตามตัวอย่างข้างต้น หรือใช้เกมเป็นสื่อการเรียนรู้แบบ Code.org หรือ CodingThailand.org เมื่อเด็กโตขึ้นถึงชั้นมัธยม จะได้แก้ปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น หลักสูตรวิทยาการคำนวณออกแบบมาให้เหมาะกับวัยและพัฒนาการของเด็ก มีเป้าหมายในระยะยาวส่วนหนึ่งเพื่อเปลี่ยนบทบาทคนไทยจากผู้ใช้เทคโนโลยีให้เป็นผู้สร้างเทคโนโลยีได้ในอนาคต

ข้อมูลจากการวิจัยของ สสวท. ที่สัมภาษณ์ครูและนักเรียนในโรงเรียนทั้งในเมืองและในพื้นที่ห่างไกล พบว่าครูและนักเรียนยืนยันว่าวิทยาการคำนวณไม่ได้ยากอย่างที่คิด เด็กๆ สนุกกับการแก้ปัญหา แม้บางคนจะผิดคาดที่ไม่ได้จับเครื่องคอมพิวเตอร์ในคาบแรกๆ แต่หลายคนก็เริ่มเข้าใจแล้วว่าเป็นวิชาที่เน้นการคิดและการแก้ปัญหา ไม่ได้เน้นเทคโนโลยีล้ำๆ เพียงอย่างเดียวถ้าบรรลุเป้าหมายของวิทยาการคำนวณ นอกจากเด็กไทยจะรู้เท่าทันเทคโนโลยีแล้ว แม้เด็กในพื้นที่ห่างไกลก็จะมีโอกาสสร้างเทคโนโลยีระดับโลกได้เหมือน มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก, แจ็ค หม่า หรือ บิล เกตส์ ก็เป็นได้

วิชาวิทยาการคำนวณ (Computing science)

– สาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

** พฤษภาคม ปีการศึกษา 2561 เริ่มชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4

* ปี 2562 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5

* ในปีการศึกษา 2563 เริ่มชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

ขอบเขตของ3 องค์ความรู้
– การคิดเชิงคำนวณ คือ เข้าใจและเรียนรู้วิธีคิดและแก้ปัญหาเชิงวิเคราะห์ มีลำดับวิธีคิดเชื่อมโยงปัญหาต่างๆ และแก้ไขปัญหาได้ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม
– ดิจิทัล เทคโนโลยี รู้เทคนิควิธีการต่างๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลในยุค 4.0 และเป็นทางเลือกในการบูรณาการเข้ากับวิชาอื่นได้ด้วย
– รู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัล แยกแยะข้อมูลจริงหรือหลอกลวง รู้กฎหมายและลิขสิทธิ์ต่างๆ บนโลกไซเบอร์ เพื่อให้ใช้งานกันได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย

Related Articles

2 Comments

  1. Looking for expert guidance on protecting assets while qualifying for Medicaid? As experienced elder law attorneys near me, our team at Ohio Medicaid Lawyers provides specialized legal assistance with Medicaid planning, estate planning, and asset protection strategies. We help seniors understand medicaid eligibility income charts and navigate the complex 5-year lookback period. Visit our website for comprehensive information about Ohio medicaid income limits 2024 and schedule a consultation with a trusted elder care attorney who can safeguard your future.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button
error: Content is protected !!