แจกฟรี คู่มือการสอนอ่านแบบแจกลูกสะกดคำ ตามหลักภาษา 10 หน่วย
คู่มือการสอนอ่าน การแจกลูก
“การแจกลูก” หมายถึง การเทียบเสียง เริ่มต้นจากการสอนให้จำและออกเสียงคำ แล้วนำรูปคำซึ่งเปรียบเสมือนแม่มากระจายหรือแจกลูก โดยการเปลี่ยนสระ หรือเปลี่ยนพยัญชนะต้น หรือเปลี่ยนพยัญชนะท้าย
(ตัวสะกด) มีวิธีการดังนี้
๑. ยึดพยัญชนะต้นเป็นหลัก แจกลูกโดยเปลี่ยนรูปสระ เช่น กะ กา กิ กี กึ กื กุ กู
๒. ยึดสระเป็นหลัก แจกลูกโดยเปลี่ยนพยัญชนะต้น เช่น กา ขา คา งา ตา นา ทา วา
๓. ยึดสระและตัวสะกดเป็นหลัก แจกลูกโดยเปลี่ยนพยัญชนะต้น เช่น กาง ขาง คาง งาง ตาง นาง ทาง วาง
๔. ยึดพยัญชนะต้นและสระเป็นหลัก แจกลูกโดยเปลี่ยนตัวสะกด เช่น คาง คาน คาย คาว คาก คาด คาบ
คู่มือการสอน อ่านการสะกดคำ
๑. สะกดตามรูปคำ เช่น
กา สะกดว่า กอ – อา – กา
คาง สะกดว่า คอ – อา – งอ – คาง
ค้าง สะกดว่า คอ – อา – งอ – คาง – ไม้โท – ค้าง
๒. สะกดโดยสะกดแม่ ก กา ก่อน แล้วจึงสะกดมาตราตัวสะกด เช่น
คาง สะกดว่า คอ – อา – คา – คา – งอ – คาง
ค้าง สะกดว่า คอ – อา – คา – คา – งอ – คาง – คาง – โท – ค้าง
๓. คำที่มีสระอยู่หน้าพยัญชนะต้น หรือสระอยู่ระหว่างพยัญชนะต้น ให้สะกดพยัญชนะต้นก่อนสระเสมอ เช่น
เก สะกดว่า กอ – เอ – เก
ไป สะกดว่า ปอ – ไอ – ไป
เรียน สะกดว่า รอ – เอีย – นอ – เรียน
เสื้อ สะกดว่า สอ – เอือ – เสือ – ไม้โท – เสื้อ
๔. คำที่เป็นสระลดรูปหรือสระเปลี่ยนรูป สามารถสะกดได้ดังนี้ เช่น
กัน สะกดว่า กอ – อะ – นอ – กัน หรือ กอ – ไม้หันอากาศ – นอ – กัน
คน สะกดว่า คอ – โอะ – นอ – คน หรือ คอ – นอ – คน
แข็ง สะกดว่า ขอ – แอะ – งอ – แข็ง หรือ ขอ – แอะ – ไม้ไต่คู้ – งอ – แข็ง
เค็ม สะกดว่า คอ – เอะ – มอ – เค็ม หรือ คอ – เอะ – ไม้ไต่คู้ – มอ – เค็ม
๕. คำอักษรควบ สามารถสะกดได้ดังนี้
๕.๑ สะกดเรียงตัวอักษร มุ่งเพื่อการเขียนให้ถูกต้อง เช่น
กลอง สะกดว่า กอ – ลอ – ออ – งอ – กลอง
พราง สะกดว่า พอ – รอ – อา – งอ – พราง
กวาง สะกดว่า กอ – วอ – อา – งอ – กวาง
๕.๒ สะกดตัวควบพร้อมกัน มุ่งเพื่อออกเสียงคำควบกล้ำให้ชัด เช่น
กลอง สะกดว่า กลอ – ออ – งอ – กลอง
พราง สะกดว่า พรอ – อา – งอ – พราง
กวาง สะกดว่า กวอ – อา – งอ – กวาง
๖. คำอักษรนำ สามารถสะกดได้ดังนี้
๖.๑ สะกดเรียงตัวอักษร มุ่งเพื่อการเขียนให้ถูกต้อง เช่น
อยาก สะกดว่า ออ – ยอ – อา – กอ – อยาก
หนา สะกดว่า หอ – นอ – อา – หนา
สนาม สะกดว่า สอ – นอ – อา – มอ – สนาม
๖.๒ อ่านอักษรนำแล้วจึงสะกด มุ่งเพื่อออกเสียงคำให้ถูกต้อง เช่น
อยาก สะกดว่า หยอ – อา – กอ – อยาก
หนา สะกดว่า หนอ – อา – หนา
สนาม สะกดว่า สะหนอ – อา – มอ – สนาม
๗. คำที่ตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด คำที่มีตัวการันต์ ให้ใช้หลักสังเกตรูปคำ รู้ความหมายของคำและจำคำให้ได้โดยอ่านและเขียนอยู่เสมอ เช่น เหตุ จันทร์
ข้อสังเกต
๑. การสะกดคำ อาจสอนได้หลายวิธี ครูควรเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งที่เห็นว่าเหมาะสม และใช้วิธีเดียวตลอดการสอน เพื่อมิให้นักเรียนสับสน
๒. การสอนแจกลูกและสะกดคำแต่ละครั้ง ไม่ควรใช้เวลานานเกินไป นักเรียนจะเหนื่อยและเบื่อหน่ายได้ ครูควรสอนควบคู่กับการสอนอ่านเป็นคำ เป็นประโยค เพื่อให้นักเรียนสนุกขึ้นเพราะได้เรียนคำที่มีความหมาย
๓. เมื่อนักเรียนมีพัฒนาการด้านการอ่านมากขึ้น ควรลดการอ่านแบบแจกลูกลง คงไว้แต่เพียงการอ่านสะกดคำเท่านั้น เพื่อมิให้เขียนหนังสือผิด และควรเลิกอ่านสะกดคำเมื่อนักเรียนอ่านเป็นคำได้เองแล้ว